เตรียม “วิ่งร้อยโล” ครั้งแรก – [Ep 3] รีวิว Speedgoat 2 ขุนศึกคู่ใจ + ไอเทมจำเป็นอื่นๆ

เอาล่ะ! เรามาพูดเรื่องรองเท้าเทรล HOKA ONE ONE Speedgoat 2 ที่เราใช้จบ TNF100 กันบ้าง ตอนนี้จะเป็นเรื่องของสายอุปกรณ์เพียวๆ เลยล่ะ แต่ใครอยากอ่านตอนก่อนหน้า เชิญนะ …

[Ep 1] TNF100 Thailand 2019 ทำไมเลือกสนามนี้?

[Ep 2] ถ้าไม่ “ซ้อม” เราต้องนอนอยู่บ้านเลยครับ!

HOKA Challenger ATR 3 and Speedgoat 2
ปรับตัวค่อนข้างเยอะ จากการใช้ Challenger ATR 3 (ซ้าย) จนชิน จนหันมาใช้ Speedgoat 2 (ขวา)

Speedgoat 2 เป็นรองเท้าเทรลคู่ที่ 5 ในชีวิตของเรา ก่อนหน้านี้เคยมี

  • ASICS Gel-Sonoma – ถูกดี ซื้อมาใช้ตอนไปเทรลแรกๆ แต่ซื้อเบอร์เล็กไป เลยบีบเท้า
  • ASICS Gel-Trabuco 5 – เป็นตัวที่ทำให้เข็ดกับรองเท้าส้นแข็ง ใส่อัพฮิลล์ทรมานมาก
  • HOKA ONE ONE Challenger ATR 3 – รองเท้า all-terrain ที่มีคนใช้เยอะมาก ประทับใจ
  • NIKE Air Zoom Terra Kiger 3 – ได้มาจากงาน sale แต่การยึดเกาะประทับใจมาก

Processed with VSCO with hb2 preset
HOKA ONE ONE คู่เก่า Challenger ATR 3 เป็นคู่หลักในปี 2017 ใช้ลงงาน เขาประทับช้าง, CM6 42K, PYT66

ได้ลองของค่าย HOKA ONE ONE เป็นครั้งแรกกับ Challenger ATR 3 แล้วก็ชอบมาก เพราะ ATR เป็นรองเท้า all-terrain เลยใส่งาน เฟรนด์ลี่กับเท้า เหมาะกับหลายๆ สนามในไทยที่มีทั้งทางเทรลและถนนผสมปนเปกันไป ดังนั้น ตอนที่ ATR 3 ใกล้จะปลดระวาง ตอนนั้นก็คิดว่าจะเอา ATR 4 มาใช้ต่อแน่นอน แต่ก็กลายเป็นว่ามีตัวเลือกมาเพิ่มคือ HOKA ONE ONE Speedgoat 2 ซึ่งมีดีกรีราศีจับทันทีหลังได้รางวัล Runner’s World Editor’s Choice สุดยอดรองเท้าเทรลในปี 2017

รองเท้าเทรล HOKA ONE ONE Speedgoat 2_Editors Choice

937abdb4974bd550df9c1b9f8203df79ที่น่าสนคือ รองเท้าเทรลรุ่น Speedgoat ตั้งแต่รุ่นแรกมา มี story มาจากชายชื่อ Karl Meltzer นักวิ่งเทรลชื่อดังเจ้าของฉายา Speedgoat

ใครมี Netflix เสิร์ชเรื่อง Made to be Broken เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Karl ที่ลงแข่งขัน Appalachian Trail สุดโหดที่ใช้เวลากว่า 45 วัน 22 ชม. 38 นาที

แล้วก็มีคลิป Youtube อันนึงที่จะเห็นความเกี่ยวกันได้ดีระหว่างความเป็น Karl ‘Speedgoat’ Meltzer, HOKA ONE ONE, และรองเท้ารุ่น Speedgoat

 

อีกเรื่องที่ทำให้รองเท้า HOKA ONE ONE Speedgoat 2 เป็นทางเลือกของเราในตอนนั้น คือรุ่นนี้ใช้ยาง Vibram MegaGrip ทำพื้นนอก ซึ่งรู้กันดีอยู่แล้วว่า Vibram MegaGrip ไว้ใจเรื่องการยึดเกาะได้ในทุกพื้นผิว ทุกสภาพสนาม

HOKA Speedgoat 2_Vibram MegaGrip.jpg
พื้น Vibram MegaGrip คือเทคโนโลยีพื้นยางจาก Vibram ที่รองเท้าเทรลหลายๆ รุ่นจากหลายๆ แบรนด์ เลือกใช้

สรุปคือเราตัดสินใจเลือกใช้ HOKA ONE ONE Speedgoat 2 ก็เพราะ 3 ข้อหลักๆ นี้

  • ได้รางวัล Runner’s World Editor’s Choice 2017
  • เป็นรองเท้าที่มี story น่าสนใจ
  • ใช้พื้น Vibram MegaGrip

สัมผัสแรก

สำหรับการสวมลอง ก็ถือว่าโอเค ไม่บีบมาก (รุ่น 1 ถูกฟีดแบคมาก ว่าหน้าเท้าบีบ) คนที่หน้าเท้าไม่กว้างมาก ใส่ได้สบาย ใส่ตามไซส์ US มาตรฐานของตัวเองได้เลย

ปัญหาจริงๆ มันอยู่ที่ความไม่คุ้นชินกับ Rocker หรือพื้นโค้งแบบ Rocking Shape ที่เป็นเอกลักษณ์ของ HOKA ONE ONE ดังนั้นในการใส่ลงเทรลในช่วงแรกๆ ปัญหาที่พบคือ

  • เท้าชอบพลิกอยู่ข้างในตัวรองเท้า คือเท้าพลิกข้างในทั้งๆ ที่ตัวรองเท้าไม่พลิก 555
  • หน้าไวมาก คือพื้นมันโค้ง เวลาดาวฮิลล์เราจะคุมไม่อยู่ เพราะมันแตะพื้นปุ๊บ มันพุ่งเลย

ดังนั้น ช่วงแรกๆ ของการใช้งาน ผมจะเกลียดรองเท้าคู่นี้มากๆ เพราะมันน่าหงุดหงิดที่เท้าพลิกบ่อย พาลให้คิดถึงว่าอยากกลับไปใช้ Challenger ATR อีกครั้ง ทั้งๆ ที่จริง รองเท้าอาจไม่ผิด พูดตรงๆ คือ “เรากากเอง” และการเคลื่อนไหวอาจยังไม่ดีพอสำหรับรองเท้าครับ 555+

FB_IMG_1524660540247.jpg
trail test ครั้งแรกที่เส้นวัดผาลาด-ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ // หน้าไปไวมาก! ….. หน้ารองเท้า? ….. หน้ากูนี่แหละ!!! 😀

การใช้งานระยะยาว

พอหลังจากผ่านการใช้งานมากว่า 70-80 กม. ไม่ว่าจะเป็นเอาไปซ้อมในเทรล หรือเอาไปลงงาน ตัว Speedgoat 2 ก็เข้ากันดีกับเท้าและลักษณะการวิ่งของเราแล้ว คือถ้าจะให้ดี การที่เราได้รองเท้าเทรลมาใหม่ ควรหาเวลาและโอกาสในการเอาไปซ้อมใส่ในเทรลก่อนเยอะๆ จะทำให้ปรับตัวกันได้เร็ว คุณจะวิ่งเทรลสนุกขึ้น นอกจากซ้อมร่างกายมาดี ต้องไว้ใจรองเท้าได้ และใช่!!! ณ วันที่เขียนรีวิวนี้ เราไว้ใจมันได้!

Speedgoat 2 เป็นรองเท้าเทรลที่ออกแบบมาให้พร้อมรับมือกับสนามที่มีพื้นผิววิ่งยากๆ เรียกว่า Technical และต้องการการยึดเกาะสูง อันนี้ยกความดีให้กับพื้นยาง Vibram Megarip กับดอกยางยึดเกาะรอบทิศที่หนากำลังดี 5 มม. ยังพอใช้วิ่งบนพื้นคอนกรีตได้ โดยไม่สะท้านมากนัก แต่รองเท้าเทรลที่วิ่งบนคอนกรีตได้นุ่มนวลมาก ยังคงเป็นตระกูล Challenger ATR อยู่ดีนะ

 

ปี 2018 จากงานที่เราลงวิ่ง ขอยกให้สนาม Isuzu Roboman 4×4 Trail Challenge จ.ระยอง ระยะ 32K เป็นสนามที่พื้นผิวการวิ่งเอาเรื่องที่สุดสำหรับเรา ส่วนตัวไม่ชอบหินลอย สนามนี้จัดให้เต็มๆ กับดาวน์ฮิลล์หินลอยกว่าเกือบกิโลได้มั้ง ยังไม่นับดินทรายวิ่งยวบๆ ที่เป็นส่วนใหญ่ๆ ของสนาม กับการวิ่งบนหญ้าสูงที่ถูกถางไว้เรียบๆ ลื่นๆ ไม่รู้ว่าแบบนี้พอจะเรียก Technical ได้มั้ย แต่ Speedgoat 2 ก็พาเราผ่านมาได้แบบไม่พลิก ไม่ช้ำมากนัก

HOKA ONE ONE SG2_on ground
ผ่าน UTN50 โดยเริ่มมีความคิดว่าใช้ Speedgoat 2 วิ่งสนุกมากขึ้น
HOKA ONE ONE SG2_Downhill
ผ่าน XTerra Khao Mai Kaew 50K ลุยพายุฝนน้ำท่วมมิดเท้า มันส์มาก

Speedgoat 2 มีหน้าผ้าที่ระบายน้ำได้เร็วดี หลายๆ สนามที่เราต้องลุยน้ำ ก็ลุยมันไปเลย ไม่ต้องเสียเวลาถอดรองเท้า/ถุงเท้าออก เพราะรู้ว่าวิ่งๆ ไปสักพัก เราก็จะไม่รู้สึกเปียกแฉะแล้ว ส่วนเชือกผูกของ Speedgoat 2 ก็ทำออกมาได้ดี เป็นเนื้อเชือกแบบที่ผูกแล้วแทบไม่หลุดเลย ซึ่งสำคัญมากสำหรับรองเท้าวิ่งเทรล เกิดหลุดขึ้นมาตอนดาวน์ฮิลล์นี่เครียดเลยนะ

cof
ผ่าน TNT30 มาแบบลุยๆ เละๆ
HOKA ONE ONE SG2_TNF100 Finisher
วินาทีแตะเส้นชัย TNF100 ร้อยโลแรกในชีวิต สำหรับรองเท้าคู่หนึ่ง การได้พาเจ้าของเดินทางไปสู่จุดหมายได้สำเร็จ ก็นับได้ว่าผลิตมาไม่เสียเปล่าแล้ว ^ ^

การได้ลงวิ่ง TNF100 Thailand 2019 อัลตร้าเทรล 100K แรกในชีวิต ด้วยรองเท้าที่เราไว้ใจได้ คือส่วนเล็กส่วนหนึ่งในองค์ประกอบของความสำเร็จนะ สำหรับทางไกลที่เกินกว่า 50K ตัว SG2 ถือเป็นรองเท้าที่ใส่สบายมาก เพราะมีพื้นกลางหรือ midsole ที่หนา ให้การรองรับเยอะแบบรองเท้า maximalist ที่เป็นสไตล์ของ HOKA ONE ONE แท้ๆ แต่น้ำหนักไม่ถือว่าหนักเลย (น้ำหนักรองเท้า ชาย 278 ก./ข้าง , หญิง 233 ก./ข้าง) และอีกเรื่องก็คือ drop ของรองเท้าจะอยู่กลางๆ ที่ 4.5 มม. ไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไป ในความคิดเรา มันให้ทั้งการรองรับ และการวิ่งที่เป็นธรรมชาติแบบพอดี๊พอดี

สรุปข้อดี

  • ยึดเกาะดีมาก เอาอยู่ทุกสภาพสนาม ใช้ยาง Vibram MegaGrip
  • รองรับได้ดี ใส่สบายมากสำหรับระยะไกล โดยมีน้ำหนักไม่มาก
  • ระบายน้ำได้ดี แห้งไว
  • เชือกผูกแล้ว แทบไม่มีเลื่อนหลุด
  • เป็นซีรี่ส์ที่ทำสีสันได้โดนใจมาก ทั้งชายและหญิง

ข้อเสียที่พอมีอยู่บ้าง

  • สำหรับเรา คิดว่ามันต้องการเวลาปรับตัวเยอะ ในการมาลองใส่แรกๆ (แต่บางคนไม่เป็นนะ)
  • หลายคนยังบอกหน้าแคบ ทั้งๆ ที่ปรับให้กว้างขึ้นกว่ารุ่น 1 ละนะ แต่สำหรับเรา คนที่เท้าไม่ได้กว้างมาก ก็ใส่ได้ปกติ แนะนำว่าใครที่หน้าเท้ากว้างมาก ก็รอรุ่น 3 ที่เค้าทำแบบ Wide มาให้เลือกด้วย

เหมาะกับใคร

ข้อนี้ให้พูดเป็นข้อๆ ก็ยาก เพราะเราคิดว่ามันเป็นรองเท้ากลางๆ ที่ใครก็ใส่ได้ มันให้ทั้งการรองรับที่มาก แต่ใครที่เป็น elite เน้นทำเวลา เค้าก็ใส่กันได้ เลยคิดว่าถ้าใครที่กำลังจะลงสมัครงานวิ่งที่มีสภาพสนามแบบ Technical คาดเดาอะไรลำบาก เช่น Tanaosri Trail, Ultra-Trail Nan เจ้าแพะ Speedgoat 2 (และตอนนี้รุ่น 3 ขายแล้ว) ก็เป็นทางเลือกที่ดีมากๆ

รองเท้าเทรล HOKA ONE ONE Speedgoat 3.jpg
หน้าตา HOKA ONE ONE รุ่น Speedgoat 3 ที่ปรับจาก 2 น้อยมากๆ (Minor Change) ภาพรวมคือกระชับ และหน้ากว้างขึ้น ที่สำคัญคือ จะมีรุ่น Wide สำหรับหน้าเท้ากว้างให้เลือกซื้อ

ทีนี้ ถ้าคุณไปลงสนามอย่างโป่งแยงเทรล หรือสนามที่พอจะรู้ว่ามีถนนคอนกรีตผสมมาค่อนข้างเยอะ ก็ยังพอใช้ Speedgoat ได้ แต่แก๊ง ATR น่าจะตอบโจทย์กว่า คือ Challenger ATR 5 และตัวที่หนา กว้าง และรองรับได้เยอะกว่าอย่าง Stinson ATR 5 แต่ก็จะไม่ได้พื้น Vibram MegaGrip นะ อย่าลืม

แล้วถ้าอยากได้พื้น Vibram ล่ะ … คุณมีอีก 2 ทางเลือกคือขยับให้เป็นรุ่นที่มีพื้นหนาและสเปคสูงขึ้นอย่าง EVO Mafate และ Mafate Speed 2 นี่คือทางเลือกที่ยังจะได้ HOKA ONE ONE ที่เป็นพื้น Vibram

cof
EVO MAFATE ทางเลือกอื่นที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นสำหรับคนที่ชอบ HOKA ONE ONE

แล้วถ้าถามว่า Speedgoat 2 เทียบกับแบรนด์อื่น น่าจะใกล้เคียงรุ่นไหน ขอบอกว่า ทางแบรนด์เค้าใช้เทียบกับรองเท้า ALTRA รุ่น Timp ที่ตอนนี้เป็น Timp 1.5 ครับ

ALTRA Timp 1.5
ALTRA Timp 1.5 (ซีรี่ส์ HOKA ONE ONE Speedgoat กับ ALTRA Timp คือการเปรียบมวยต่างแบรนด์ที่ถูกคู่)

ตอนนี้ราคา HOKA ONE ONE Speedgoat 3 ราคาเต็มขายในไทยอยู่ที่ 5,890 บ. ส่วน Speedgoat 2 ที่เรารีวิวเนี่ย มันเป็นรองเท้าที่เปิดตัวปลายๆ ปี 2017 เข้าขายในไทยก็ต้นปี 2018 มารีวิวต้นปี 2019 รุ่น 3 เค้าก็วางขายกันละว่ะ 555 ถ้าใครยังหา Speedgoat 2 อยู่ ก็น่าจะได้ราคาที่ลดลงมาแล้วกว่า 30% น่ะนะ

เป็นรองเท้าเทรลที่ดีอีกคู่ที่เราได้ใช้งานครับ สำหรับ HOKA ONE ONE Speedgoat 2 เราตั้งชื่อให้ว่า “เจ้าแพะคาร์ล” สามารถไปลองและซื้อได้ที่ร้าน REV RUNNR … โดยทางร้านได้สนับสนุนให้นำคู่นี้มาทดลองใช้และรีวิวครับ ขอบคุณมากๆ

แต่ยัง! ยังไม่จบ

เพราะหัวเรื่องเราบอกไว้แล้วว่าวิ่ง TNF100 ครั้งนี้ เรามีอุปกรณ์อะไรที่ต้องพกไปอีกบ้าง แวะมาดูกัน เล่าแต่อันที่สำคัญๆ นะ

TNF100 Thailand 2019 Gears-02

  1. หมวกสู้แดดของร้าน Pathwild : หมวกแบบนี้มีที่ปิดบังแดดด้านข้างกับท้ายทอย และมันถอดออกได้ด้วย พอถอดออก ปีกหมวกมันก็ออกแบบให้พับครึ่ง เก็บใส่เป้น้ำได้ง่ายอีก คือหมวกที่ดีย์ สำหรับสนามปิ้งย่างอย่าง TNF100
  2. Headlamp Black Diamond รุ่น Spot 200 Lumen : ความสว่างประมาณนี้ พอใช้งานได้ดีเลยสำหรับ TNF100 ที่ต้องวิ่งตอนมืดช่วงปล่อยตัวตีสี่ครึ่ง และตอนหัวค่ำจนถึงสี่ห้าทุ่ม มีหลายโหมดให้เลือกใช้ ถ้าวิ่งประมาณนี้ก็แบตชุดเดียวเอาอยู่ (AAA 3 ก้อน) แต่ต้องพกแบตสำรองด้วยนะ
  3. DEVER Energy Gel : เตรียมของกินไปเยอะ แต่สุดท้ายแล้ว ตอนวิ่ง TNF100 เรากินจริงจังได้แค่ไม่กี่อย่าง เพราะท้องมันไม่ค่อยรับอาหารหนักๆ มีกล้วย แตงโม น้ำ เกลือแร่ แล้วก็ DEVER ที่กินง่ายไม่เหนียวคอ
  4. Trekking Poles Black Diamond รุ่น Distance FLZ : เราติดการใช้โพลมาก และใช้ได้ทั้งช่วยไต่ขึ้นและช่วยเบรคถนอมขาตอนลงเขา เป็นอุปกรณ์เสริมที่ถ้าหัดใช้ได้คล่อง จะเหมือนได้ขามาเพิ่ม ก่อนแข่งมันมีปัญหาว่าโพลมันกางไม่ออก เกิดจากการคดงอ เลยส่งไปซ่อมที่ศูนย์ Black Diamond Thailand อยู่ที่เชียงใหม่ และส่งไปรษณีย์กลับมา บริการดีมากครับ
  5. เป้น้ำ Salomon รุ่น ADV Skin 12 Set : สั่งซื้อกับแพรวา iBEP Family ขอบคุณมากนะฮะ เคยมี Salomon อันเดิมอยู่ แต่มันเก่าและยานเป็นนมยายมากๆ แล้ว เลยถึงเวลาเปลี่ยน ตอนแรกว่าจะลองค่าย UD บ้าง แต่หลายคนโหวตให้ใช้ Salomon ไปนั่นแหละ ช่องใส่เยอะ เก็บของได้มาก แต่เพิ่งได้มาไม่นาน ก็ยังไม่ชิน เลยยังเงอะๆงะๆ บ้าง รุ่นนี้ระบบพันเก็บไม่โพลดีขึ้น แต่ขวดน้ำด้านหน้า แอบยัดลงช่องยากหน่อย ต้องกระทุ้งๆ แรงๆ แต่สีมันเข้ากับชุดของ Trail Dogs Pack ที่สุดเลยล่ะ ดีใจ ^^
  6. Garmin fenix 5 Sapphire : นาฬิกาสำหรับอัลตร้าเทรล แบตฯ ต้องอึด ตัวนี้ตามสเปค ถ้าเปิด GPS วิ่งแบตฯ ต้องอยู่ได้ 24 ชม. แต่ทีนี้ถ้าเราเปิดโหมดนู่นนี่นั่นไปด้วย มันก็จะทำให้เปลืองแบตฯ มากขึ้น เช่นตอนวิ่ง TNF100 นี่ 10 โลสุดท้าย วิ่งมาประมาณ 16 ชม.กว่าๆ เราเหลือแบตฯ ประมาณ 5% ทั้งที่ชาร์จมาเต็มแล้ว เลยต้องรีบปิดโหมดวัดอัตราการเต้นหัวใจออกไป ก็น่าจะช่วยได้บ้าง
  7. ถุงเท้า Injinji รุ่น Trail : ใครนิ้วเท้าชอบมีปัญหาพองเวลาวิ่งไกล ใส่ถุงเท้าแบบแยกนิ้วไปเลย จบๆเรื่องฮะ Injinji Trail เป็นรุ่นที่มีความหนา ก็ช่วยเรื่องความนุ่มสบายด้วย เสียดาย หาสีที่เข้ากับชุดไม่ได้สักที 555
  8. รองเท้าเทรล HOKA ONE ONE Speedgoat 2 : ก็ดีงาม เป็นไปตามที่รีวิวข้างบนนะฮะ

ใครอ่านจบเก่งมาก เขียนยาวไปหน่อย ถึงกับต้องแยก Episode 1-3 ที่เป็นรีวิวก่อนไปแข่ง The North Face 100 Thailand 2019 นี่ยังไม่ใช่เขียนถึงตอนวิ่ง ที่จะแยกออกมาอีกตอนด้วยนะฮะ เพราะมันก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายจริงๆ ในสนาม มีครบทุกอารมณ์อะ บอกเลย รออ่านนะ 🙂

SAN_3186 edit.jpg
ความระยำตำบอนรอแกอยู่ #MikeyFirst100

2 thoughts on “เตรียม “วิ่งร้อยโล” ครั้งแรก – [Ep 3] รีวิว Speedgoat 2 ขุนศึกคู่ใจ + ไอเทมจำเป็นอื่นๆ

ใส่ความเห็น